ครม. เห็นชอบขยายเวลาให้บริการ ศูนย์ CI ใน 4 จังหวัด ถึง 13 ก.พ. 2566

ประชาสัมพันธ์ นายจ้าง และแรงงานต่างด้าว
กุมภาพันธ์ 21, 2023
ครม. มีมติเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เห็นชอบให้ “แรงงานต่างด้าว” 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า กัมพูชา และลาว ที่เข้ามาตามระบบ MOU และวาระจ้างงานครบ 4 ปี ในปี 2565 สามารถอยู่ และทำงานต่อต่อได้อีก 2 ปี
กุมภาพันธ์ 21, 2023

ครม. เห็นชอบขยายเวลาให้บริการ ศูนย์ CI ใน 4 จังหวัด ถึง 13 ก.พ. 2566

ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขยายระยะเวลาการออกเอกสาร CI ของทางการเมียนมา ให้บริการใน 4 จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง ชลบุรี ถึง 13 ก.พ. 66 หวังผู้ประกอบการมีแรงงานทำงานต่อเนื่องถึง 13 ก.พ. 68

วันที่ 13 กันยายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ของทางการเมียนมาร์ ให้แก่แรงงานเมียนมาร์ที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ นายสุชาติ กล่าวว่า ทางการเมียนมาจะดำเนินการเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้แก่แรงงานเมียนมาร์ที่มีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับเดิม เป็นระยะเวลา 2 เดือนหลังจากนั้นจะเป็นการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานเมียนมาร์ที่ไม่มีเอกสารประจำตัว โดยให้ดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการศูนย์ CI อีกครั้ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี

“การขยายเวลาให้บริการศูนย์ CI ในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนให้นายจ้าง สถานประกอบการ ที่ยังคงมีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวสามารถจ้างแรงงานต่อไปได้อย่างถูกต้อง ตอบสนองการฟื้นฟูประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ตลอดจนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับของภาครัฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า มติครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ได้เห็นชอบให้เปิดศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 – 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่งมีแรงงานเมียนมาร์ใช้บริการ ณ ศูนย์ CI ทั้ง 5 ศูนย์ (จังหวัดเชียงใหม่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี) รวมกันประมาณ 408,155 คน สำหรับการพิจารณาครั้งนี้เป็นไปตามที่ทางการเมียนมา ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงทางการไทย ร้องขอให้กรมการจัดหางานพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์ CI ถึง 2 ครั้ง เนื่องจากทางการเมียนมาคาดการณ์ว่ายังคงเหลือแรงงานที่จะต้องเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) จำนวนประมาณ 250,000 – 300,000 คน

“กรมการจัดหางาน ภายใต้การนำของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการจัดทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่(ci)ของแรงงานเมียนมาซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดและนายจ้างในประเทศไทยมีความต้องการมากที่สุดในกลุ่มแรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จำเป็นต้องวางแนวทาง ให้แรงงานเมียนมามีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับใหม่ เพื่อขอตรวจลงตราอยู่ต่อในราชอาณาจักรกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในกำหนดเวลาและสามารถทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ถึง 13 ก.พ. 68 ซึ่งก่อนที่จะเสนอครม.ในวันนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 แล้ว” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว